|
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย | |
1. ชื่อโครงการ
โครงการส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
2. หลักการและเหตุผล
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยยึดหลัก 3 ข้อ คือการ พอประมาณ ถ้ารู้รายรับรายจ่าย ก็จะใช้แบบพอประมาณ แต่มีเหตุผลรู้ว่ารายจ่ายใดจำเป็นไม่จำเป็น และเมื่อเหลือจากใช้จ่ายก็เก็บออม นั้นคือภูมิคุ้มกันตัวเราและครอบครัว การปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพรก็เป็นการปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน หากเราปลูกไว้ใช้ภายในครัวเรือน มีมากเหลือก็นำไปจำหน่ายเกิดรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(COVID-19) ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก การปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพรไว้รับประทานเองในครัวเรือน ที่มีสรรพคุณลดความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันอาการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ได้อีกหนทางหนึ่งด้วย
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (6) การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ (10) การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส (11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนได้มีพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรไว้รับประทานในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน และสามารถพึ่งตนเองได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)
3. วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจวิธีการปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพรไว้รับประทานในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพึ่งตนเองได้ทางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (COVID-19)
4. เป้าหมาย
ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำรอบ จำนวน 20 คน
5. ระยะเวลาดำเนินการ
เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2565
6. วิธีดำเนินการ
1. ประชุมวางแผนร่วมกับคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ
2. จัดทำโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาอนุมัติ
3. จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
4. ประชาสัมพันธ์โครงการฯ และสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
5. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ติดต่อวิทยากร วางแผนปฏิบัติการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน
6. จัดซื้อจัดจ้าง วัสดุอุปกรณ์ ตามโครงการ
7. จัดเตรียมสถานที่อบรม เอกสาร และอุปกรณ์ต่างๆ
8. ฝึกอบรมตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้
9. ดำเนินการโครงการ
- กิจกรรมอบรมให้ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง
- กิจกรรมสาธิตการปลูกพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพร รวมถึงอธิบายสรรพคุณของพืชสมุนไพรที่มีผลกับสุขภาพช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
10. ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ
11. สรุปผลการดำเนินโครงการ
7. สถานที่ดำเนินการ
- ณ อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ (ตึกส้ม)
- แปลงพื้นที่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
8. งบประมาณ
ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หน้า 62/63 แผนงานการเกษตร งานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ งบดำเนินงาน หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ โครงการส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งไว้ 70,๐๐๐.- บาท (-.เจ็ดหมื่นบาทถ้วน.-) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้ รายละเอียดค่าใช้จ่ายตามเอกสารแนบท้าย ข.
9. ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรอบ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีพืชผักสวนครัว พืชเศรษฐกิจ และพืชสมุนไพรไว้รับประทานในครัวเรือน
3. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
4. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถมีภูมิคุ้มกันในระดับครัวเรือน
5. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
11. ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
11.1 ตัวชี้วัดผลผลิต
ผู้เข้าร่วมโครงการมีระดับความรู้ ความเข้าใจ โครงการส่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่น้อยกว่า 80
11.2 ตัวชี้วัดผลลัพธ์
ผู้เข้าร่วมโครงการร้อยละ 80 สามารถปลูกพืชสวนครัว, พืชเศรษฐกิจ, พืชสมุนไพร และลดรายจ่ายในครัวเรือนได้
๑2. การติดตามประเมินผล
- แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ
- แบบประเมินความรู้ ความเข้าใจ
- แบบสัมภาษณ์และสังเกตการณ์
ข่าว ณ. วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เวลา 15.50 น. โดย คุณ เมธาพร คงคุ้ม
ผู้เข้าชม 139 ท่าน | |